การประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สมัยที่ 81 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ"ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อความยืดหยุ่นและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมือง"
นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหาร ESCAP กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดว่า การพัฒนาเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจมานานแล้ว แต่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทําให้แรงกดดันทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น เธอตั้งข้อสังเกตว่าจําเป็นต้องคิดใหม่ว่าเมืองต่าง ๆ ควรพัฒนาและทํางานอย่างไร เพื่อเปลี่ยนให้เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม ความยืดหยุ่น และความเท่าเทียมกัน
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวในพิธีเปิดของการประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน นอกจากนี้ นายกฯแพทองธารยังได้เน้นย้ำถึงความสําคัญของแพลตฟอร์มและข้อตกลงพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ ESCAP และอาเซียนในการบรรลุเป้าหมายความยืดหยุ่นและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมือง
นายหม่า จาวซี่ว์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เข้าร่วมประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ โดยอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับจุดยืนของจีนที่มีต่อนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ว่าการที่รัฐบาลสหรัฐฯ กําหนด"ภาษีซึ่งกันและกัน" ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นลัทธิฝ่ายเดียว ลัทธิกีดกันทางการค้า และการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเอเชียแปซิฟิกต่างได้รับความเสียหาย จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาด ไม่เพียงเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังปกป้องความเป็นธรรมระหว่างประเทศ ความยุติธรรม และความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย เมื่อเผชิญกับการกลั่นแกล้งและการครอบงํา การประนีประนอมและการสัมปทานจะหมดทางไป มีเพียงความสามัคคีและร่วมมือกันเท่านั้นที่จะมีอนาคต
นายหม่า จาวซี่ว์ ยังระบุด้วยว่า ESCAP ในฐานะหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับภูมิภาคที่มีอิทธิพลมากที่สุดของสหประชาชาติควรปกป้องพหุภาคีนิยมอย่างมั่นคง ส่งเสริมการเปิดกว้างและความร่วมมือ บ่มเพาะตัวขับเคลื่อนใหม่ของนวัตกรรมและการพัฒนา ส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน จีนพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางให้มีคุณภาพสูง และเพิ่มแรงผลักดันให้มากขึ้นในการเชื่อมต่อของเอเชียแปซิฟิกและการพัฒนาที่ยั่งยืน
อนึ่ง สหประชาชาติมีสำนักงานในภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 5 สำนักงาน โดย ESCAP ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นสำนักงานระดับภูมิภาคของสหประชาชาติที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 53 ประเทศ และสมาชิกสมทบจำนวน 9 ภูมิภาค