เมื่อวันที่ 17 มกราคม 10 สุดยอดข่าวเด่นความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงประจำปี ค.ศ. 2024 ได้ประกาศ ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย แสดงถึงผลสำเร็จอันโดดเด่น ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ และอนาคตอันสดใสของความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
1. ความไว้วางใจทางการเมืองระหว่าง 6 ประเทศลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2024 นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีน หารือกับ พลเอกโต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีเวียดนาม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้นำจากกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเป็นประธานการประชุมครั้งนี้ โดยย้ำว่าจีนและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีอนาคตร่วมกันเสมือนญาติพี่น้อง พร้อมเรียกร้องให้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ใช้ประโยชน์จากความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินความร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ในขณะที่โลกเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
2. การประชุมรมว. ต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งที่ 9 เปิดศักราชใหม่แห่งความร่วมมือฯ
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2024 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า ในเส้นทางสู่ความทันสมัยร่วมกันนั้น จีนยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อสร้างเขตนำร่องแห่ง ข้อริเริ่ม“การหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ข้อริเริ่มการพัฒนาของโลก ข้อริเริ่มความมั่นคงของโลก และข้อริเริ่มอารยธรรมของโลกอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมให้ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงมีชะตาชีวิตร่วมกันได้รับการปฏิบัติอย่างทั่วถึงและลึกซึ้ง
3. รถไฟจีน-ลาว ดำเนินการครบ 3 ปี ด้วยความก้าวหน้าที่เกินคาด
วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2024 รถไฟจีน-ลาว เป็นวันครบรอบ 3 ปีแห่งการเปิดเดินรถเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ขนส่งผู้โดยสารกว่า 43 ล้านครั้ง โดยในจำนวนนี้มีผู้โดยสารข้ามพรมแดนกว่า 4 แสนครั้ง และขนส่งสินค้ากว่า 48 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้มีสินค้าข้ามพรมแดนกว่า 10.6 ล้านตัน ประเภทสินค้าที่มีการขนส่งข้ามพรมแดนผ่านทางรถไฟจีน-ลาวขยายเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ประเภท เครือข่ายการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนครอบคลุม 31 มณฑลและเขตปกครองของจีน รวมถึง 19 ประเทศและพื้นที่ เช่น ลาว ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ ส่วนแหล่งที่มาของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 108 ประเทศและพื้นที่
4. 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงรักษาความมั่นคงในภูมิภาคฯ ร่วมกัน
เมื่อวันที่ 6-7 สิงหาคม ค.ศ. 2024 การประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการปราบปรามอาชญากรรมในภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และพิธีเปิดของรหัส“นกนางนวล” (Operation SEAGULL) จัดขึ้นที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยมีผู้แทนกว่า 50 รายที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน กระทรวงความมั่นคงสาธารณะและกระทรวงกลาโหมของลาว กองกำลังตำรวจของเมียนมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนาม สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ
5. อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนสร้างโอกาสใหม่ทางการค้า
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2024 งานแสดงสินค้าเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนจีน-เวียดนาม (หงเหอ) จัดพื้นที่แสดงสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นครั้งแรก เพื่อนำเสนอบริการและสินค้าที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น อาหารว่าง เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่งบ้าน และของเล่นตุ๊กตา เป็นต้น นอกจากบริษัทท้องถิ่นในมณฑลยูนนานแล้ว ยังมีบริษัทจากเมืองอันคัง มณฑลส่านซี เมืองชื่อเฟิ่ง เขตมองโกเลียใน รวมถึงเมืองโฮจิมินห์และกรุงฮานอยของประเทศเวียดนามเข้าร่วมงานแสดงสินค้าครั้งนี้ด้วย
6. ความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในภูมิภาคกำลังเร่งตัวขึ้น
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ฟอรั่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและเกษตรกรรมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงประจำปี ค.ศ. 2024 จัดขึ้นที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี ภายใต้หัวข้อ“การผลักดันการพัฒนาเกษตรกรรมและวัสดุการเกษตรอย่างยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง” ฟอรั่มดังกล่าวมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าล่าสุดในด้านการเกษตร วัสดุการเกษตร การค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางธุรกิจ การแสดงสินค้าและเทคโนโลยี เพื่อผลักดันการแบ่งปันทรัพยากรเกษตรในระดับภูมิภาค การเปิดตลาด ความร่วมมือทางการค้า และสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
7. โครงการ“แลกเปลี่ยนความรักในประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง” คัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดให้เด็กกว่า 80,000 คน
ระหว่างปี ค.ศ. 2018-2024 โครงการ“แลกเปลี่ยนความรักในประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง” ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือกับกัมพูชา เมียนมา และลาว พร้อมจัดทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากจีนไปคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดให้กับเด็กจำนวน 85,403 คน โดยมีการส่งตัวเด็ก 128 รายที่ตรวจพบอาการ ไปยังจีนเพื่อรับการรักษาฟรี ในจำนวนนี้มีเด็กชาวกัมพูชา 91 ราย เด็กชาวเมียนมา 25 ราย และเด็กชาวลาว 12 ราย นอกจากนี้ จีนยังได้ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์จากกัมพูชา ลาว และเมียนมาทั้งหมด 12 คน
8. 6 ประเทศรับมือภัยแล้งและอุทกภัยร่วมกัน
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2024 พายุไต้ฝุ่น“ยางิ” ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำโขงและพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำล้านช้าง ส่งผลให้ความกดดันต่อการป้องกันน้ำท่วมบริเวณแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น จีนได้ใช้ประโยชน์จากการปรับระดับน้ำของเขื่อนขั้นบันไดในแม่น้ำล้านช้าง โดยปรับลดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจิ่งหงและลดภาระต่อการป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
9.“กลุ่มประเทศฟรีวีซ่า” ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ข้อตกลงการยกเว้นวีซ่าระหว่างจีนและไทยสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2024 และในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคมถึง 31 ธันวาคม ค.ศ. 2024 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเป็นกลุ่มและได้รับการรับรองจากบริษัทนำเที่ยวลาว 42 แห่งที่จดทะเบียนและได้รับการรับรองจากกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยวแห่งลาว สามารถเดินทางเข้าเที่ยวชมประเทศลาวได้ไม่เกิน 15 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้ประกาศว่า จีนจะออก“วีซ่าล้านช้าง-แม่โขง” ให้แก่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ และออกวีซ่าเดินทางเข้าจีนได้หลายครั้งในระยะเวลา 5 ปี ให้กับบุคลากรธุรกิจที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
10. ปล่อยดาวเทียม“ฟู่ตั้น 1” (ดาวอนาคตลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง) ด้วยความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 2024 จีนประสบความสำเร็จในการยิงส่งดาวเทียม“ฟู่ตั้น 1” (ดาวอนาคตลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง) เข้าสู่วงโคจรในอวกาศด้วยจรวดขนส่ง Smart Dragon-3 จากท่าอวกาศยานตะวันออกที่เมืองไห่หยาง มณฑลซานตง ดาวเทียมนี้จะดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ข้ามชาติด้านข้อมูลบรรยากาศของดวงอาทิตย์และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง อีกทั้งยังสร้างแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับความร่วมมือด้านการสังเกตการณ์อวกาศและการพัฒนาเทคโนโลยีระหว่าง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง