นายกฯ เศรษฐา ตั้งเป้าดันไทยขึ้น Top 10 ศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Thailand Aviation Hub) เปิดประตู เชื่อมโลกไร้รอยต่อ รองรับเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางอากาศ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

CRI, March 19, 2024
Size:

[Bangkok, Thailand] – 1 มีนาคม 2567 – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศให้ได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี และจะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าทางอากาศแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

ในโอกาสนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งเผยว่าขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภายใต้ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้น้อมรับวิสัยทัศน์ นโยบาย นำมาจัดทำเป็นแผนดำเนินงาน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงได้ระบุผู้รับผิดชอบงานในส่วนต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เรียนเชิญท่านนายกฯ เศรษฐา ขึ้นกล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็น 1 ในด้านการบิน   

นายกฯ เศรษฐา เผยว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2548 สนามบินสุวรรณภูมิเคยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก แต่ในปัจจุบันนั้นตกอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ดังนั้นรัฐบาลจึงมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดบินเสรีการบินอาเซียน โดยการประกาศวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งกำกับดูแลท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ท่าอากาศยานดอนเมือง  ท่าอากาศยานเชียงใหม่  ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 

สำหรับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่นั้น รัฐบาลมีแผนจะขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573  ซึ่งขณะนี้ทาง AOT ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในปี 2567 นี้ เตรียมจะเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 สามารถรองรับเที่ยวบินจาก 60 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 90 เที่ยวต่อชั่วโมง และมีแผนจะก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก ให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี และยังมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงมีแผนจะก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รวมถึงจะเปลี่ยนเครื่อง x-Ray ที่จุดตรวจค้น ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องหยิบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจากกระเป๋า หรือถอดรองเท้าขณะผ่านจุดตรวจค้น เพื่อร่นระยะเวลาในการตรวจเช็ค 

ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค รัฐบาลมีแผนจะเปลี่ยนสนามบินให้เป็นสนามบินแบบ POINT-TO-POINT ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ผ่านการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม และจะขยายอาคาร 1 และ อาคาร 2 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ 27 ล้านคนต่อปี และจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 23 ล้านคนต่อปี อีกทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นที่พื้นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ พัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งจะยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วน เพิ่มพื้นที่จอดรถได้มากถึง 7,600 คัน และจะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงจะพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับเอกชนอีกด้วย

สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น รัฐบาลมีแผนจะสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2  หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง และจะพัฒนาสะพานสารสิน เพื่อรองรับจำนวนรถให้ได้มากขึ้น และให้เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้เช่นกัน นอกจากนี้สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ต รัฐบาลจะพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 และกำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่อากาศยานขึ้น-ลงในทะเล เพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นสูง เชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน เป็นต้น ส่วนท่าอากาศยานอันดามันที่มีแผนจะสร้างขึ้นนั้น จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน ตั้งเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) ทั้งเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point

ถัดมาเป็นท่าอากาศยานเชียงใหม่ รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมได้เพียง 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปีภายในปี 2572 รวมทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี และจะเป็น Homebase ของสายการบิน อย่าง VietJet เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจะยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวของโลก ผ่านการผลิตอาหารให้กับสายการบินต่าง ๆ ส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพของไทย นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงต่อยอดเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสู่อาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมีแผนจะขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว มีระบบคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพื่อกระจายสู่ประชากรกว่า 280 ล้านคนทั้งไทย มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และจะร่วมกันพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสม จำนวนและประเภทเครื่องบิน บัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ ไปพร้อม ๆ กับสร้างความยั่งยืนผ่านการดึงดูดสายการบินด้วยเชื้อเพลิง SAF และส่งเสริมการผลิตในประเทศ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ไม่เพียงจะสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอนาคตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น และจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน