ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดโครงการเสวนาวิชาการด้านจีนศึกษาชุด“ล่องกระแสจีน” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ“เจาะลึกนโยบายเปิดประเทศกับความท้าทายในการจัดระเบียบสังคมจีนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
อาจารย์ซ่อซิง เมธาธารณ์กุล อาจารย์ประจำสำนักจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจีน ว่า มีการประกาศโดยสาธารณสุขจีนแห่งอู่ฮั่นถึงการพบโรคครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 โดยพบผู้ติดเชื้อ 27 คน จากนั้นวันที่ 9 มกราคม 2020 เริ่มมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 คนแรกเป็นผู้สูงอายุวัย 61 ปี วันที่ 11 มีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19เป็นโรคระบาดทั่วโลก กระทั่งวันที่ 23 มีนาคม 2020 จีนเริ่มดำเนินนโยบายหยุดการแพร่ระบาดภายใน ป้องกันการแพร่กระจายสู่ภายนอก เริ่มมีการล็อกดาวน์ เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น จากนั้นจีนเริ่มพัฒนาวัคซีนจนวันที่ 31 ธันวาคม 2020 จีนเริ่มมีวัคซีนเชื้อตายของตัวเองและเริ่มการฉีดให้ประชาชน
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ถึงเดือนเมษายน 2022 จีนดำเนินการฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ โดยมีการฉีดวัคซีนประมาณ 3,200 ล้านโดส งบประมาณที่ใช้ในการฉีดวัคซีนประมาณ 120,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 600,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า กลุ่มคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนทั่วไปได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 90 กลุ่มผู้สูงอายุอายุระหว่าง 60-79 ได้รับการฉีดวัคซีนร้อยละ 86 และกลุ่มผู้สูงอายุอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนร้อยละ 66
อาจารย์ซ่อซิงกล่าวว่า“นี่ทำให้เห็นว่าระบบสังคมนิยมของจีนเน้นการฉีดวัคซีนที่ทุ่มเต็มที่ เงินใส่ลงไปเต็มที่ เพื่อให้คนมีชีวิตอยู่ได้ โรคถูกควบคุมได้ นี่คือเป้าหมายของเขา ความพยายามของจีนที่จะทำให้ยอดการติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ เพราะ จุดประสงค์หลักคือการมุ่งลดการสูญเสีย ช่วยชีวิตคน เพราะถ้าควบคุมไม่ได้ จะทำให้เกิดความเสี่ยงกับกลุ่มคนเปราะบาง เช่นผู้สูงอายุ ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในจีนยังน้อยมาก ตัวเลขทางการอยู่ที่ 5,235 คน ในช่วง 3 ปีของการระบาดของโรคโควิด-19 จีนได้ใช้งบประมาณในการต่อสู้กับโควิด-19 หลายล้านล้านหยวน จีนต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยงบประมาณมหาศาล”
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของจีนกับประเทศอื่นๆ ในช่วงแรก เมื่อคิดจากจำนวนประชากร 1 ล้านคน จีนมีผู้เสียชีวิต 3 คน อเมริกามีผู้เสียชีวิต 3,000 คน และอังกฤษมีผู้เสียชีวิต 2,400 คน มาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์จึงเป็นแนวทางที่จึงมั่นใจว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ทำเพื่อสังคม เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย
หลังจากจีนดำเนินมาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์มาถึงจุดหนึ่ง มีการสั่งล็อกดาวน์พื้นที่ที่พบเชื้อ มีการตรวจผู้ติดเชื้ออย่างเข้มวงด มีมาตรการให้ผู้ที่ติดโควิด-19 แยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือสถานที่กักตัวของรัฐบาล จนเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทางการจีนประเมินแล้วว่าควรมีการปรับมาตรการจึงประกาศผ่อนคลายมาตรการ มีการเปิดประเทศตั้งแต่ 8 มกราคม 2566
หลังจากนี้ อาจารย์ซ่อซิงมองว่า เมื่อโควิด-19 ระบาดถึงจุดพีคจุดหนึ่ง โรคโควิด-19 ก็จะกลายเป็นโรคทั่วไป และคนก็จะเกิดความเคยชินเหมือนกับประเทศอื่นๆ ชาวจีนจะเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณดีที่จะทำให้บรรยากาศการใช้ชีวิตและการเดินทางท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
บทความ: ประวีณมัย บ่ายคล้อย